เที่ยวพิษณุโลก

รอยตีนสัตว์โบราณ (อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ) ตำบลชาติตระการ อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก

รอยตีนสัตว์โบราณ อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการประมาณ 500 เมตร จากการสำรวจและพิสูจน์ของผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่น ร่วมกับกรมทรัพยากรธรณี และจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย เบื้องต้นแจ้งว่าเป็นรอยตีนของนกโบราณในยุคไดโนเสาร์

ทุ่งโนนสน ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก

ทุ่งโนนสน อีกหนึ่งจุดท่องเที่ยวสำหรับคนที่รักการเดินป่าศึกษาธรรมชาติและการแค้มป์ปิ้ง โดยเป็นทุ่งหญ้าสลับกับป่าสนเขาที่สวยงามมาก โดยเฉพาะในช่วงปลายฝนต้นหนาว ตามบริเวณลานหินจะเต็มไปด้วยดอกไม้เล็กๆ เช่น ดุสิตา สร้อยสุวรรณา กระดุมเงิน ฯลฯ รวมทั้งกล้วยไม้ดินนานาชนิด เช่น เอื้องม้าวิ่ง ยี่โถปีนัง ฯลฯ

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าเขาน้อย-เขาประดู่ ตำบลบ้านยาง อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก

เมื่อปี 2535 สำนักงานป่าไม้เขตพิษณุโลกสำรวจพบว่า พื้นที่ป่าบริเวณ เขาน้อย-เขาประดู่ มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ ยังไม่ผ่านการทำไม้ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย และปี 2537 ได้พบอีกว่าพื้นที่ป่าสองฝั่งลำน้ำแควน้อย ป่าลุ่มน้ำวังทองฝั่งขวา มีความอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลากหลายชนิด จึงเสนอให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกณ์ ได้กำหนดเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า เมื่อปี 2541

ถ้ำค้างคาว ตำบลบ้านมุง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก

ถ้ำต่าง ๆ ในเขต อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก ที่มีค้างคาวอาศัยอยู่และบินออกจากถ้ำเป็นประจำทุกเย็น มี 3 ถ้ำ คือ ถ้ำบ้านมุง ถ้ำผาท่าพล และถ้ำขุนศึก พบจำนวนค้างคาวมากที่สุดคือ ถ้ำบ้านมุง ละแวก ถ้ำบ้านมุง มีภูเขาสูงชันหลายลูก อยู่ห่างจากตัวจังหวัดพิษณุโลก ประมาณ 81 กิโลเมตร ไปตามถนนสายพิษณุโลก-หล่มสัก ประมาณ 17 กิโลเมตร แล้วแยกไปตามถนนสายวังทอง-เขาทราย ประมาณ 38 กิโลเมตร แยกซ้ายอีกประมาณ 26 กิโลเมตรจะถึงหมู่บ้านและทางเข้าวัดบ้านมุงอีก 2 กิโลเมตร

ถ้ำเดือน-ถ้ำดาว อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก

เป็นแหล่งท่องเที่ยวในเขต อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ทางด้านทิศตะวันตก มีลักษณะเป็นถ้ำน้ำลอด ทางขึ้นปากถ้ำเป็นธารน้ำไหล ผ่านโขดหินน้อยใหญ่ ซึ่งต้องปีนป่ายขึ้นไป ในถ้ำมีลักษณะ คล้ายห้องโถงที่มีธารน้ำไหลผ่าน มีความยาว 1.4 กิโลเมตร สวยงามด้วยหินงอกหินย้อย ช่วงที่เหมาะแก่การชมถ้ำคือในฤดูแล้ง และต้องนำไฟฉายติดตัวไปด้วย ฤดูฝน ไม่เหมาะแก่การเที่ยวชม เนื่องจากปริมาณน้ำมากและอันตราย ถ้ำแห่งนี้อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 85 กิโลเมตร

น้ำตกภูสอยดาว ตำบลบ่อภาค อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก

น้ำตกภูสอยดาว ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กับที่ทำการเดิมของอุทยานแห่งชาติภูสอยดาว ซึ่งเป็นศูนย์บริการนักท่องเที่ยว โดยอยู่ริมเส้นทางสายนาแห้ว-ห้วยมุ่น เพียง 80 เมตร น้ำตกแห่งนี้มีทั้งหมด 5 ชั้น เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวผู้ผ่านไปมาจะแวะเข้ามาชมอยู่เสมอ และเป็นเส้นทางที่ต้องเดินเท้าขึ้นไปลานป่าสน ที่อุดมสมบูรณ์และสวยงามมาก

ลานหินแตก (อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า) ตำบลเนินเพิ่ม อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก

ลานหินแตกอยู่ห่างจากฐานพัชรินทร์ ประมาณ 300 เมตร ลักษณะเป็นหินที่มีรอยแตกเป็นแนวเป็นร่อง เหมือนแผ่นดินแยก รอยแตกนี้บางรอยก็มีขนาดแคบพอให้รากต้นหญ้าชอนไชไปได้เท่านั้น บางรอย กว้างพอคนก้าวข้ามได้ และบางรอยกว้างมากจนไม่สามารถกระโดดข้ามได้ ความลึกของร่องหินแตกเหล่านั้น ไม่สามารถจะคะเนได้ ลักษณะเช่นนี้สันนิษฐานว่าอาจจะเกิดจากการโก่งตัวหรือเคลื่อนตัวของผิวโลก จึงทำให้พื้นหินนั้นแตกเป็นแนวนอกจากนี้บริเวณหินแตกยังปกคลุมไปด้วยมอส ไลเคนส์ ตะไคร่ เฟิน และกล้วยไม้ชนิดต่างๆ

น้ำตกปอยและสวนป่าเขากระยาง ตำบลแก่งโสภา อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

ตั้งอยู่บริเวณสวนป่าเขากระยาง ในความดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เป็นน้ำตกที่มีทัศนียภาพสวยงาม สภาพโดยรอบร่มรื่นเหมาะเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และในบริเวณสวนป่ายังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติสำหรับผู้ที่สนใจ และมีบริการบ้านพักสำหรับประชาชนทั่วไป

ผาชูธง ตำบลเนินเพิ่ม อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก

ลานหินปุ่มเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจมากอีกแห่งหนึ่งในอุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า มีชื่อเสียงคู่กันมากับลานหินแตก อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ประมาณ 4 กิโลเมตร บริเวณริมหน้าผาเป็นลานหินที่มีก้อนหินผุดขึ้นเป็นปุ่มไล่เลี่ยกัน กระจายอยู่ทั่วลานหิน ลักษณะการเกิดคล้ายกับลานหินแตก คือเกิดการโก่งตัวของเปลือกโลก ทำให้ชั้นหินทรายส่วนนี้เกิดรอยแตกแต่มีขนาดเล็กกว่าลานหินแตก รอยหินนี้ผ่านกระบวนการสึกกร่อนและผุพังตามธรรมชาติ ด้วยการกระทำของน้ำและสายลมแรง ขัดเกลาแท่งหินให้มีรูปร่างเป็นปุ่มกลมมน ตั้งเรียงรายอยู่เต็มลาน ลานหินปุ่มตั้งอยู่ใกล้หน้าผาด้านตะวันตก มีทิวทัศน์สวย สายลมพัดเย็นสบาย บริเวณนี้เคยเป็นที่พักฟื้นคนไข้ เมื่อครั้งที่ภูหินร่องกล้าเป็นฐานที่มั่นสำคัญของ พคท.ที่ใช้ในการสู้รบกับฝ่ายรัฐบาล ผาชูธงอยู่ห่างจากลานหินปุ่มประมาณ 600 เมตร เป็นหน้าผาสูงชันสามารถเห็นทิวทัศน์ได้กว้างไกล โดยเฉพาะภาพทิวทัศน์ดวงอาทิตย์ตกดินจะสวยงามไม่แพ้จุดชมทิวทัศน์อื่นๆ บริเวณนี้เคยเป็นสถานที่ที่ ผกค.จะขึ้นไปชูธงแดง (ฆ้อนเคียว) ทุกครั้งที่รบชนะทหารของรัฐบาล ในช่วงฤดูฝน เส้นทางท่องเที่ยวแห่งนี้ จะมีพรรณไม้ที่ขึ้นงอกงามอยู่บนลานหินหลายชนิดแข่งกันออกดอกสวยๆให้ได้ชมเป็นของแถม เช่นกระดุมเงิน เอนอ้า เอื้องม้าวิ่ง ลิ้นมังกรทั้งสีส้มและสีหลือง ที่เด่นที่สุดเห็นจะเป็นต้นเปราะภูสีขาว หรือบางครั้งก็เรียกกันว่าบัวสวรรค์ ออกดอกสีขาวสวยงามให้ได้ชมกันเต็มอิ่ม การเข้าไปท่องเที่ยวเส้นทางลานหินปุ่มนี้ เป็นเส้นทางเดินที่วนเป็นวงกลม โดยมีจุดเที่ยวชมหลักๆคือ สำนักอำนาจรัฐ ซึ่งสะสมเรื่องราวในประวัติศาสตร์สงคราม อันเกิดจากความขัดแย้งกันของคนในชาติด้วยกันเอง จากนั้นก็ไปชมลานหินปุ่ม ชมทิวทัศน์ทะเลภูเขา ชมลักษณะพิเศษของลานหินที่เป็นตะปุ่มตะป่ำเรียงกันเป็นแนวเต็มหน้าผา สัมผัสสายลมเย็นๆ อากาศปลอดโปร่งสบาย จากนั้นไปรอชมพระอาทิตย์ตกที่ผาชูธง จากจุดนี้เดินต่อไปยังลานจอดรถครบรอบวงพอดี แต่ช่วงเวลาที่เดินกลับนี้อาจจะเป็นเวลาที่พลบค่ำพอดี ถ้าติดไปฉายไปด้วยก็จะเดินกลับได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น

บึงหลวง ตำบลบ้านพร้าว อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก

บึงหลวง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ซึ่งในบริเวณบึงหลวงได้มีการค้นพบเครื่องใช้ทองเหลือง เงิน นาค กลางบึงหลวง ต.บ้านพร้าว อ.นครไทย ซึ่งเชื่อเป็นของใช้ของคนสมัยโบราณยุคสร้างเมืองนครบางยางเมืองร่วมสมัยกรุงสุโขทัย บริเวณสถานที่นี้จึงมีความสำคัญต่อการศึกษาทางประวัติศาสตร์

น้ำตกแก่งโสภา ตำบลบ้านแยง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก

“น้ำตกแก่งโสภา” หรือที่นักท่องเที่ยวบางกลุ่มเรียกว่า “ไนแองการ่าเมืองไทย” เป็นน้ำตกขนาดใหญ่สูงประมาณ 40 เมตร มีชั้นย่อย ๆ ทั้งหมด 3 ชั้น ด้านบนมีลักษณะเป็นแผ่นหินขนาดใหญ่วางขวางอยู่กลางทางน้ำ ด้านล่างมีโขดหินขนาดย่อมกระจายตัวอยู่ทั่วไป ในช่วงฤดูฝนสายน้ำสีโคลนของน้ำตกแก่งโสภาจะไหลแรงเชี่ยวกรากจนไม่สามารถลงเล่นน้ำได้ ส่วนในช่วงฤดูหนาว – ฤดูร้อนสายน้ำจะลดระดับความรุนแรงลงจนสามารถมองเห็นชั้นทั้ง 3 ของน้ำตกแก่งโสภาได้ชัดเจน นักท่องเที่ยวสามารถเดินตามบันไดลงไปยังจุดชมทิวทัศน์ด้านหน้าตัวน้ำตกเพื่อชื่นชมความงดงามแบบเต็ม ๆตาได้ (ในช่วงฤดูฝนจะมีการกั้นรั้วไม่ให้นักท่องเที่ยวเดินลงบันไดผ่านไปยังจุดชมทิวทัศน์ด้านหน้าน้ำตกแก่งโสภา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายจากการลื่นล้ม หรือถูกกระแสน้ำด้านหน้าตัวน้ำตกพัดปลิวไป) โดยรอบบริเวณน้ำตกแก่งโสภามีแมกไม้น้อยใหญ่ขึ้นยืนต้นกางกิ่งใบให้ร่มเงาครึ้ม บางต้นก็งอกรากปกคลุมซอกหลืบระหว่างหินใหญ่จนดูคล้ายกับฉากของภาพยนตร์ผจญภัยในดินแดนมหัศจรรย์ “ศาลเจ้าพ่อ – ศาลเจ้าแม่” เล็ก ๆที่ตั้งอยู่ระหว่างบันไดทางลงสู่จุดชมทิวทัศน์ด้านหน้าตัวน้ำตกก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งซึ่งช่วยเสริมบรรยากาศให้เกิดความรู้สึกลึกลับชวนให้ค้นหา พืชจำพวกมอสและตะไคร่น้ำแพร่ขยายพันธุ์ไปทั่วพื้นผิวอันชื้นแฉะราวกับพรมกำมะหยี่สีเขียวสด ท่ามกลางธรรมชาติอันงดงามหากเพียงคุณลองหยุดคุยหยุดพูดกับญาติสนิทมิตรสหายซึ่งเดินทางมาด้วยกันแล้วเงี่ยหูฟังสรรพสิ่งต่าง ๆ รอบ ๆกาย คุณก็อาจจะได้ยินเสียงของเหล่าแมลงและเสียงของเหล่านกตัวน้อยร้องระงมแข่งกับเสียงซู่ซ่าของน้ำตกแก่งโสภาอยู่ไม่ไกล…..ณ สถานที่แห่งนี้…..ความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่ายังคงหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตจำนวนมากมายให้ดำรงอยู่ได้ด้วยความอาทร

อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก

อุทยานแห่งชาติภูสอยดาวลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ตั้งแต่ทิสเหนือจดทิศใต้ ป็นเทือกเขากั้นพรมแดงระหว่างประเทศไทยกับสาธารรรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 500-1800 เมตร ซึ่งสูงเป็นอันดับ 4 ของประเทศไมย พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาและป่าไม้ประมาณร้อยละ 85 ของพื้นที่ทั้งหมด เป็นที่ราบประมาณร้อยละ 15 ของพื้นที่ทั้งหมด เช่น แหล่งต้นน้ำลำธารตภาค และลำน้ำปาด

อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ ตำบลชาติตระการ อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก

อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอชาติตระการ และอำเภอนครไทย มีเนื้อที่ 339,375 ไร่ ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2530 สภาพพื้นที่ ทั่วไปเป็นเทือกเขาและภูเขาสูงสลับซับซ้อน อยู่ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลก 145 กิโลเมตร สถานที่ท่องเที่ยวในอุทยานฯ ได้แก่ น้ำตกชาติตระการ นอกจากนี้ที่อุโมงค์ผาเลขมีร่องรอย ศิลปะยุคแรกของมนุษย์ คือ รอยแกะสลัก บนแผ่นหินเป็นสัญลักษณ์ต่างๆ ลักษณะคล้ายรูปสัตว์ น้ำตกชาติตระการ หรือ น้ำตกปากรอง ตั้งอยู่ที่บ้านปากรอง ตำบลชาติตระการ อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลกห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 145 กิโลเมตร เป็นน้ำตกที่สวยงามมากในจังหวัดพิษณุโลก และน่าสนใจแห่งหนึ่ง ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 7 ชั้น แต่ละชั้น ก็มีชื่อที่เรียก แตกต่างกันไป และมีความสวยสดงดงามตามลักษณะของภูมิประเทศ เช่น ชั้นที่ 1 ชื่อ มะลิวัลย์ เป็นลานน้ำขนาดใหญ่ ที่รองรับน้ำจากชั้นที่ 2 มีความสูงประมาณ 8 เมตร ซึ่งเป็นหน้าผาสูงชัน สามารถลงเล่นได้ บางจุดหากลึกมากก็จะมีป้ายแจ้งให้ทราบ ชั้นที่ 2 ชื่อ กรรณิการ์ ระยะทางขึ้นเขาซึ่งมีความลาดชั้นมาก ต้องใช้ความระมัดระวังในการเดินเท้า ความสวยงามจะแตกต่างจากชั้นที่ 1 เนื่องจากเป็นหน้าผาที่มีหินชั้นลดหลั่นกันไป สายน้ำจะมารวมกันในช่องหินซึ่งทะลุไปยังชั้นที่ 1 ในการขึ้นไปท่องเที่ยวยังชั้นที่ 2 ต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง หากพลัดตกลงไปในช่องหินอาจทำให้เกิดอันตรายได้ ชั้นที่ 3 ใช้เส้นทางได้ 2 ทาง ได้แก่ ปีนชั้นหินขึ้นไปสู่ชั้น 3 โดยตรง หรือเดินทางเท้าตามเส้นทางของอุทยาน ชั้นที่ 3 ชื่อ การะเกด สามารถให้นักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำได้ ซึ่งลักษณะคล้ายอ่างน้ำขนาดใหญ่

ถ้ำลอด ตำบลเนินมะปราง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก

ถ้ำลอด เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะเป็นภูเขาหินปูน ยอดสูงสุด 236 เมตร มีหน้าผาสูงชันเว้าแหว่ง อันเกิดจากการกัดเซาะของน้ำฝนนับหลายล้านปี เกิดเป็นถ้ำต่างๆ มากมายทั่วบริเวณ ได้แก่ ถ้ำนเรศวร ถ้ำเรือ ที่มีหินงอกหินย้อยสวยงาม ถ้ำลอด ซึ่งสามารถเดินทะลุไปยังอีกด้านหนึ่งของภูเขาได้ เหมาะแก่การทัศนศึกษาเชิงนิเวศ

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาท่าพล ตำบลบ้านมุง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก

พื้นที่ป่าลุ่มแม่น้ำวังทองฝั่งซ้าย เป็นที่อยู่อาศัยของเลียงผา สัตว์ป่าสงวน และสัตว์ชนิดอื่นอีกมากมาย ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองรักษาธรรมชาติและสัตว์ป่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงกำหนดเป็น เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาท่าพล เมื่อปี พ.ศ. 2526 เขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาท่าพล ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเนินมะปราง ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลก 85 กิโลเมตร ครอบคลุมเนื้อที่ 1,775 ไร่ เป็นภูเขาหินปูนขนาดใหญ่หน้าผาสูงชันทอดยาวมีลักษณะคล้ายรูปเกือกม้า มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ที่ประมาณ 236 เมตร มีหน้าผาแหว่งเว้า อันเกิดจากการกัดเซาะของน้ำฝนหลายล้านปี ก่อให้เกิดถ้ำมากมาย การเที่ยวชมถ้ำจึงเป็นไฮไลท์ของการมาเที่ยวที่นี่ การเที่ยวชมถ้ำต่างๆ สามารถขับรถไปยังถ้ำต่างๆ ได้โดยตรง ถ้ำแต่ละแห่งจะอยู่ติดถนนดินของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าถ้ำผาท่าพล เป็นถ้ำขนาดเล็กไม่ได้มีทางเดินทอดยาวเข้าไปในถ้ำลึกนัก ชมความงามได้แค่บริเวณปากถ้ำ

ทุ่งดอกกระดาษ (อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า) ตำบลบ้านแยง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก

ทุ่งดอกกระดาษ หรือ ดอกบานไม่รู้โรย เป็น โครงการพัฒนาป่าไม้ตามแนวพระราชดำริภูหินร่องกล้า เพื่อการฟื้นฟูสภาพป่า เพาะชำกล้าไม้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับราษฎร ปลูกอยู่บริเวณด้านหน้าโครงการฯ ห่างออกไปจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า ประมาณ 2-3 กิโลเมตร ในอำเภอนครไทย ดอกจะบานช่วงหน้าหนาว ประมาณเดือนธันวาคม ยาวไปถึงต้นเดือนมีนาคม เป็นทุ่งดอกกระดาษดารดาษสีสันสวยงามมาก

สวนพฤกษศาสตร์สกุโณทยาน ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

 ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2497 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาเยี่ยมชมน้ำตกวังนกแอ่น ริมฝั่งขวาของแม่น้ำเข็กหรือแม่น้ำวังทอง อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก และได้เสนอแนะให้ สำนักงานป่าไม้เขตพิษณุโลก ดำเนินการตั้งเป็นวนอุทยาน และกรมป่าไม้จึงได้ประกาศ ให้ตั้ง วนอุทยานวังนกแอ่น ขึ้นในปี พ.ศ. 2498 มีพื้นที่รวมประมาณ 814 ไร่ ต่อมาในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2501 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จประพาสวนอุทยานวังนกแอ่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ได้ทรง พระมีกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “สกุโณทยาน” แทน “วังนกแอ่น” กรมป่าไม้จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วนอุทยานสกุโณทยาน” และในปี พ.ศ. 2504 กรมป่าไม้ได้เปลี่ยนเป็น สวนรุกขชาติสกุโณทยาน และเป็น สวนพฤกษศาสตร์สกุโณทยาน ในปัจจุบัน

อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ ตำบลชาติตระการ อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก

เริ่มจากกำนันผู้ใหญ่บ้านและประชาชนในท้องที่ ตำบลนครชุม ตำบลน้ำกุ่ม อำเภอชาติตระการ และอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก ได้เสนอผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก (นายประเทือง วิจารณ์ปรีชา) ขอให้กรมป่าไม้เข้าจัดการพื้นที่เขาย่าปุกให้เป็นวนอุทยานเพื่อสงวนทรัพยากรป่าไม้ และป่าต้นน้ำลำธารของลำแควน้อย ในปี พ.ศ.2523 ได้เริ่มการสำรวจและจัดตั้งเป็นวนอุทยานน้ำตกชาติตระการ ต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ.2525 จึงได้เปลี่ยนมาเป็นอุทยานน้ำตกชาติตระการ หลังจากได้มีการสำรวจเพิ่มเติมและรับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2530 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 55 ของไทย สภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเทือกเขาและภูเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำหลายสาย ภูเขาส่วนใหญ่เป็นภูเขาหินทรายโดยเฉพาะหน้าผาบริเวณน้ำตก เพราะเกิดจากการเรียงตัวของชั้นหินทรายที่ทับถมกันมาเป็นเวลานาน

อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง ตำบลบ้านแยง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก

อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง (หนองแม่นา) ภูมิประเทศมีลักษณะเป็นภูเขาคล้ายหลังเต่าสูง ๆ ต่ำ ๆ เป็นเทือกเขาหินปูนทอดเป็นแนวยาวมีจุดสูงสุดคือ บริเวณเขาแค เป็นต้นน้ำลำธารหลายสาย เช่น ห้วยเข็คใหญ่ และคลองวังทอง ฤดูฝนอยู่ในระหว่างเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม และฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ อากาศจะหนาวเย็นมากเหมาะแก่การไปท่องเที่ยว พันธุ์ไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้ต้นสองใบ มะม่วงป่า ประดู่ และทุ่งหญ้าที่เป็นพื้นที่โล่งกว้างใหญ่มีสนและไม้ดอกขึ้นสลับกันอยู่สถานที่น่าสนใจในเขตอุทยานฯ ได้แก่สะพานแขวน ทุ่งแสลงหลวง ทุ่งนางพญา ทุ่งโนนสน สะวันนาเมืองไทยพร้อมต้อนรับทุกคนด้วยทัศนียภาพสุดตระการตา โดยเฉพาะในยามเช้าตรู่ เมื่อแสงสีทองค่อย ๆ สาดจับยอดไม้ ระบายสีสันภายในอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง (หนองแม่นา) ได้งดงามจับตายิ่งนัก ที่นี่เป็นหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติ สล.8 (หนองแม่นา) ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ในจังหวัดพิษณุโลกประมาณ 60 กิโลเมตร มีป่าสนธรรมชาติและทุ่งหญ้าสะวันนาเป็นไฮไลต์ ซึ่งจะสวยงามที่สุดในช่วงปลายฝนต้นหนาว

น้ำตกชาติตระการ (อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ) ตำบลชาติตระการ อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก

มะลิวัลย์ เป็นชื่อของน้ำตกชั้นที่ 1 ของทั้งหมด 7 ชั้น ใน อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ ตั้งชื่อตามนามธิดาท้าวสามลในวรรณคดีไทยเรื่องสังข์ทอง น้ำตกชั้นแรกอยู่ห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวประมาณ 200 เมตร เป็นเพียงชั้นเดียวที่จะสามารถนำเอาเครื่องดื่ม ขนม อาหารมานั่งกินรอบ ๆ บริเวณได้ หลังจากนี้เป็นเขตห้ามอาหารและเครื่องดื่ม ชื่อน้ำตกชาติตระการชั้นที่ 1-7 : มะลิวัลย์ กรรณิการ์ การะเกด ยี่สุ่นเทศ เกศเมือง เรืองยศ รจนา

ถ้ำผาแดง ตำบลบ้านมุง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก

เดิมมีชื่อว่า ถ้ำน้ำผึ้ง เพราะมีผึ้งมาทำรังเป็นจำนวนมาก ส่วนที่ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น ถ้ำผาแดง อาจเป็นเพราะบนหน้าผาเหนือปากถ้ำมีสีแดงเคลือบอยู่ ซึ่งเป็นแร่เหล็กชนิดหนึ่ง เรียกว่า ฮีมาไทต์ (Hematite) ภายในถ้ำผาแดงมีภูมิประเทศที่เหมาะสม เป็นถ้ำขนาดใหญ่ ทำให้มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ใช้ถ้ำนี้เป็นที่อยู่อาศัย จากหลักฐานที่นักโบราณคดีได้สำรวจพบคือเศษภาชนะดินเผาที่เผาด้วยไฟอุณหภูมิต่ำ และใช้เชือกทาบเป็นลายในการตกแต่ง และพบสะเก็ดหินที่เกิดจากการถูกกะเทาะจากแก่นหิน เพื่อนำมาทำเป็นเครื่องมือ แล้วทิ้งกองไว้บนพื้นถ้ำ ในปัจจุบันโครงสร้างของถ้ำมีความเหมาะสม ฝูงค้างคาวจึงมาจับจองเป็นที่อยู่อาศัย ที่ถ้ำผาแดงมีค้างคาว 2 ชนิด คือ ค้างคาวปากย่น และค้างคาวปีกถุงเคราดำ เป็นค้างคาวกินแมลง และจะคอยกำจัดศัตรูพืช ให้กับเกษตรกร

วัดเกาะแก้ว ตำบลจอมทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก

วัดเกาะแก้ว ผู้สูงอายุ เล่าให้ฟังว่าหมู่บ้านนี้เกิดมาตั้งแต่สุโขทัยหรือสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่แน่ชัด ได้จัดสร้างวัดและดูแลรักษา ซึ่งเป็นวัดเก่า ดูได้จากอิฐแดง ถือเป็นสถานที่ที่เคารพสักการะของผู้คน

วัดเกาะแก้ว ตำบลจอมทอง อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก

วัดเกาะแก้ว ผู้สูงอายุ เล่าให้ฟังว่าหมู่บ้านนี้เกิดมาตั้งแต่สุโขทัยหรือสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่แน่ชัด ได้จัดสร้างวัดและดูแลรักษา ซึ่งเป็นวัดเก่า ดูได้จากอิฐแดง ถือเป็นสถานที่ที่เคารพสักการะของผู้คน

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยงและภูทอง ตำบลบ้านดง อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก

ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณ ป่าภูเมี่ยงและภูทอง เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 94 ตอนที่ 137 เมื่อวันที่ 31 เดือนธันวาคม พ.ศ.2520 มีพื้นที่ประมาณ 340,625 ไร่ ในขณะนั้นพื้นที่ป่าภูเมี่ยงและภูทอง ยังมีสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ การดำเนินงานจัดการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยงและภูทองในเบื้องต้น จึงไม่สามารถกระทำการได้โดยสะดวก จนกระทั่งปี พ.ศ. 2525 สถานการณ์ในพื้นที่ได้คลี่คลายลง ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เข้ามอบตัวกับทางการ และร่วมเป็นผู้พัฒนาชาติไทย ในปีพ.ศ. 2526 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยงและภูทอง เริ่มได้รับการจัดสรรงบประมาณให้ก่อสร้างที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยงและภูทอง บริเวณบ้านโคกผักหวาน ตำบลชาติตระการ อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก ดำเนินการจัดตั้งหน่วยพิทักษ์ป่าในสังกัดเป็นลำดับเรื่อยมา ในช่วงปีพ.ศ. 2525 กองทัพภาคที่ 3 ได้ขอกันพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยงและภูทอง ส่วนหนึ่งให้ชาวเขาเผ่าม้งที่เคยปฏิบัติการในพื้นที่อำเภอชาติตระการและมอบตัวกับทางราชการเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” ใช้เป็นที่อยู่อาศัยและทำกิน โดยจัดตั้งเป็น 2 หมู่บ้าน คือ หมู่บ้านน้ำคับ และหมู่บ้านน้ำจวง จำนวนประชากรประมาณ 2,126 คน 263 ครอบครัว มีพื้นที่ 10,313 ไร่ โดยพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยงและภูทองลดลงเหลือประมาณ 330,267.32 ไร่ หลังจากนั้น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเมี่ยงและภูทอง ได้สำรวจพื้นที่ป่าใกล้เคียงที่มีความสมบรูณ์ เพื่อผนวกเข้าเป็นพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฯ เพิ่มเติมตามขั้นตอน และประกาศในพระราชกฤษฎีกา เล่มที่ 109 ตอนที่ 42 ลงวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2535 รวมเป็นเนื้อที่โดยประมาณ 435,320 ไร่ หรือ 696.51 ตารางกิโลเมตร สถานภาพของพื้นที่จำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ เป็นเขตป่าเพื่อการอนุรักษ์ (Zone C) ทั้งหมด เดิมเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 5 ป่า คือ 1. ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำภาคน้อย บางส่วน 2. ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงตีนตก บางส่วน 3. ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองตรอนฝั่งขวา บางส่วน 4. ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำภาคฝั่งขวา บางส่วน 5. ป่าสงวนแห่งชาติป่าน้ำน้ำปาด บางส่วน

จุดชมวิวและสะพานแขวนน้ำตกแก่งซอง ตำบลแก่งโสภา อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

“น้ำตกแก่งซอง” เป็นหนึ่งในน้ำตกหลาย ๆ แห่งของ อ.วังทอง จ.พิษณุโลกซึ่งมีการวางตัวของแก่งหินขนาดใหญ่ขวางกลางทางไหลของลำน้ำเข็กน้ำตกแห่งนี้เกิดจากการที่พื้นผิวของลำน้ำเข็กนั้นลดระดับตัวลงมาเป็นชั้นๆ ก่อให้เกิดความต่างระดับของชั้นหินขึ้น จึงทำให้จากธารน้ำไหลปกติ แปรเปลี่ยนกลายเป็นแอ่งน้ำตกมีขนาดใหญ่ ยิ่งถ้ามาในช่วงหน้าน้ำด้วยแล้วนั้น ความสวยงามของสายน้ำที่ไหลลงแก่งแห่งนี้ก็เพิ่มทวีคูณเข้าไปอีกสามารถท่องเที่ยวได้ทั้งปีแต่ช่วงฤดูกาลที่เหมาะสม คือ กลางเดือน พ.ย. – ต้นเดือน ก.พ. (ในช่วงฤดูหนาวสีของน้ำบริเวณน้ำตกแก่งซองจะกลายเป็นสีเขียวค่อนข้างใส ไหลไม่แรงมากเหมาะแก่การลงเล่นน้ำ) รอบๆน้ำตกจึงมีจุดชมวิวที่สวยงม และสะพานแขวนที่เป็นทางข้ามผ่านของชุมชน ยังเป็นจุดที่มีทัศนียภาพที่สวยงามและเป็นธรรมชาติที่สมบูรณ์ ที่เมื่อนักท่องเที่ยวไปจะต้องถ่ายรูปบนสะพานแขวนเป็นอย่างแหน่นอนและนักท่องเที่ยวสามารถล่องแก่งได้อีกด้วย ทำให้เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวมามากเพิ่มขึ้น

ทุ่งโนนสน (อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง) ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก

ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง เป็นทุ่งหญ้าสลับกับป่าสนเขาที่สวยงามมาก โดยเฉพาะในช่วงปลายฝนต้นหนาว

น้ำตกนาจาน (อุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ) ตำบลชาติตระการ อำเภอชาติตระการ จังหวัดพิษณุโลก

น้ำตกนาจาน ตั้งอยู่บริเวณ บ้านนาจาน ม. 4 ต.ชาติตระการ อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก อยู่ห่างจากอุทยานแห่งชาติน้ำตกชาติตระการ ไปทางหมู่บ้านนาจาน 3 กิโลเมตร จากหมู่บ้านนาจาน เดินเท้าอีกประมาณ 3 กิโลเมตร ลักษณะเป็นน้ำตกขนาดกลางมีทั้งหมด 7 ชั้น ชั้นที่ 1 จะมีลักษณะไหลเอื่อย ๆ ชั้นที่ 2 จะมีลักษณะที่สวยงามมาก สูงประมาณ 7 – 10 เมตร ชั้นที่ 4 มีความสวยงามเป็นพิเศษมีน้ำไหลลงมาพร้อมกันทีเดียว 3 สาย สูงประมาณ 20 เมตร กว้างประมาณ 50 เมตร น้ำตกนาจานชั้นที่ 1 – 4 อยู่ห่างกันไม่มากนัก ชั้นที่ 4 – 5 อยู่ห่างกันประมาณ 200 เมตร ชั้นที่ 5 – 6 อยู่ห่างกันประมาณ 100 เมตร ชั้นที่ 6 – 7 อยู่ห่างกันประมาณ 30 เมตร สภาพเส้นทางมีความลาดชันปานกลาง

ถ้ำนเรศวร ตำบลบ้านมุง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก

ถ้ำนเรศวร อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติลุ่มน้ำวังทองฝั่งซ้าย อำเภอเนินมะปราง และอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าถ้ำผาท่าพล ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกทางธรรมชาติของท้องถิ่นอันควรอนุรักษ์ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2532 ลักษณะเป็นถ้ำในภูเขาหินปูนลึก 150 เมตร ปากถ้ำอยู่สูงกว่าพื้นดิน 100 เมตร เดิมถ้ำนี้ชื่อว่า ถ้ำโอ่ง เพราะชาวบ้านเห็นว่า บริเวณปากถ้ำมีลักษณะกลมเหมือนปากโอ่ง และเคยมีการค้นพบโอ่งและเครื่องปั้นดินเผาในถ้ำ ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยรูปร่างต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก และยังเป็นที่อยู่ของค้างคาวจำนวนมากมาย ในปี พ.ศ. 2522 มีการเปลี่ยนชื่อเป็น ถ้ำนเรศวร เนื่องจากพบหินงอกหินย้อยรูปร่างคล้ายพระมาลาเบี่ยง ของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ทรงสวมขณะทำสงครามยุทธหัตถี

ถ้ำเรือ ตำบลบ้านมุง อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก

ที่ได้ชื่อว่า ถ้ำเรือ เป็นเพราะภายในพบรูปร่างคล้ายเรือคว่ำอยู่บนเพดานถ้ำ การเกิดรูปรอยเรือคว่ำบนเพดานนั้น มาจากการที่ถ้ำแห่งนี้ถูกน้ำท่วมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ผนังถ้ำซึ่งเป็นหินปูนถูกกัดกร่อนจนมีรูปร่างคล้ายรูปเรือคว่ำ บริเวณหน้าถ้ำเรือ เป็นสังคมพืชป่าภูเขาหินปูน พืชบริเวณนี้จะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง พันธุ์ไม้พื้นส่วนล่างที่อยู่ริมน้ำมีความชื้นสูง จะเป็นพรรณไม้ชนิดที่ขึ้นอยู่ในป่าดงดิบ เช่น หวาย ยาง พรรณไม้พื้นล่างที่มีหน้าดินตื้นมีหินมากแล้งน้ำจะเป็นพวกหญ้าเถาวัลย์ หนาม และงิ้วป่า เป็นไม้เบิกนำ เมื่อมองสูงขึ้นไปจะเห็นพรรณไม่ที่สามารถขึ้นในที่แล้งได้ เช่น สลัดได ที่มีลำต้นคล้ายตะบองเพชร พืชเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สังคมพืชป่าเขาหินปูน มีความหลากหลายของชนิดพรรณไม้เป็นอย่างมาก ทั้งที่นี้อยู่กับสภาพภูมิประเทศความชื้นในดิน และแสงสว่างที่มีส่วนกำหนดการเกิดของพรรณไม้แต่ละพรรณ

น้ำตกสกุโณทยาน ตำบลวังนกแอ่น อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

“สวนรุกขชาติสกุโณทยาน” คือ สวนป่าซึ่งเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองพิษณุโลกมาช้านาน พื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบเนินเขา มี “ลำน้ำเข็ก” หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “แม่น้ำวังทอง” ไหลผ่านทางด้านทิศใต้ สภาพป่าเป็นป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรังมีเนื้อที่รวมทั้งหมด 814 ไร่ เดิมทีสวนรุกขชาติสกุโณทยานแห่งนี้เคยมีชื่อว่า “วนอุทยานวังนกแอ่น” โดยได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นวนอุทยานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 – 2498 (สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี) ต่อมาเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2501 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จประพาสวนอุทยานวังนกแอ่นแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าพระราชทานนาม “สกุโณทยาน” แทนคำว่า “วังนกแอ่น” ซึ่งเคยใช้อยู่เดิม แต่นั้นมาวนอุทยานวังนกแอ่นจึงเปลี่ยนชื่อเป็น “วนอุทยานสกุโณทยาน”

ทุ่งดอกเปราะภูขาว (อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า) ตำบลบ้านแยง อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก

ดอกไม้ป่านานาชนิดบนลานหินปุ่ม ผาชูธง อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จ.พิษณุโลก อาทิ ดอกเปราะภูสีขาว ดอกตาเหินไหว ดอกลิ้นมังกรสีส้ม ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นพืชในตระกูลขิงข่า โดยจะมีดอกเปราะภูขาวขึ้นมากที่สุด … ดอกไม้จะบานอยู่บริเวณรอบ ๆ ทางเดินไปยังลานหินปุ่ม และบริเวณผาชูธง ซึ่งเป็นเส้นทางเดินที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินเที่ยวชมและถ่ายภาพได้เอง … ดอกไม้จะเริ่มบานประมาณเดือนมิถุนายน ช่วงปลายเดือนกรกฏาคมหรือช่วงเข้าพรรษา ดอกไม้เบ่งบานมากที่สุด และหลังจากนั้นก็จะมีให้ชมไปจนถึงราวปลายเดือนสิงหาคม

น้ำตกถ้ำหมี ตำบลชมพู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก

น้ำตกถ้ำหมี เป็นน้ำตกที่เพิ่งพบใหม่โดยชาวบ้านไม่ถึง 10 ปี โดยมีรายงานผ่านสื่อ เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 56 ที่บ้านรักไทย หมู่ 9 ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก โดย นายประคอง บัวคง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 ว่าได้พบน้ำตกแห่งใหม่ โดยชาวบ้านในหมู่บ้านออกหาของป่า แล้วพบน้ำตกโดยบังเอิญเมื่อ 2-3 ปีก่อน … เมื่อแรกพบ น้ำตกถ้ำหมี ยังไม่มีนักท่องเที่ยวรู้จักมากนัก ด้วยอยู่ห่างจากตัวเมืองพิษณุโลก กว่า 100 กม. การเดินทางค่อนข้างลำบาก แต่ปัจจุบันทาง ททท. สำนักงานพิษณุโลก ได้เปิดการท่องเที่ยวทุ่งโนนสน เส้นทางใหม่ของบ้านรักไทย อ.เนินมะปราง น้ำตกถ้ำหมี เป็นเส้นทางผ่านของการเดินทางไปเที่ยวทุ่งโนนสน ทำให้เป็นอีกจุดที่น่าสนใจ … น้ำตกถ้ำหมี มีความงามทางธรรมชาติ รับรองว่านักท่องเที่ยวเมื่อมาพบเห็นน้ำตกแห่งนี้จะหายเหนื่อย โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว จะมีความสวยงามเป็นอย่างมาก มีน้ำไหลตลอดเวลา หากผู้ใดสนใจต้องการไปเที่ยวชมน้ำตกแห่งนี้ สามารถติดต่อ สำนักงานการท่องเที่ยวพิษณุโลกได้เป็นประจำทุกวัน

จุดชมวิวและสะพานแขวนน้ำตกแก่งซอง ตำบลแก่งโสภา อำเภอวังทอง จังหวัดพิษณุโลก

“น้ำตกแก่งซอง” เป็นหนึ่งในน้ำตกหลาย ๆ แห่งของ อ.วังทอง จ.พิษณุโลกซึ่งมีการวางตัวของแก่งหินขนาดใหญ่ขวางกลางทางไหลของลำน้ำเข็กน้ำตกแห่งนี้เกิดจากการที่พื้นผิวของลำน้ำเข็กนั้นลดระดับตัวลงมาเป็นชั้นๆ ก่อให้เกิดความต่างระดับของชั้นหินขึ้น จึงทำให้จากธารน้ำไหลปกติ แปรเปลี่ยนกลายเป็นแอ่งน้ำตกมีขนาดใหญ่ ยิ่งถ้ามาในช่วงหน้าน้ำด้วยแล้วนั้น ความสวยงามของสายน้ำที่ไหลลงแก่งแห่งนี้ก็เพิ่มทวีคูณเข้าไปอีกสามารถท่องเที่ยวได้ทั้งปีแต่ช่วงฤดูกาลที่เหมาะสม คือ กลางเดือน พ.ย. – ต้นเดือน ก.พ. (ในช่วงฤดูหนาวสีของน้ำบริเวณน้ำตกแก่งซองจะกลายเป็นสีเขียวค่อนข้างใส ไหลไม่แรงมากเหมาะแก่การลงเล่นน้ำ) รอบๆน้ำตกจึงมีจุดชมวิวที่สวยงม และสะพานแขวนที่เป็นทางข้ามผ่านของชุมชน ยังเป็นจุดที่มีทัศนียภาพที่สวยงามและเป็นธรรมชาติที่สมบูรณ์ ที่เมื่อนักท่องเที่ยวไปจะต้องถ่ายรูปบนสะพานแขวนเป็นอย่างแหน่นอนและนักท่องเที่ยวสามารถล่องแก่งได้อีกด้วย ทำให้เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวมามากเพิ่มขึ้น